Tuesday, October 21, 2014


เทคนิคการถ่ายวีดีโอ

ที่มา : http://studiodas.tripod.com/shooting.htm
คุณภาพของหนัง จริงอยู่ว่าคุณลงทุนซื้อกล้องแพงๆ มีฟีเจอร์เพียบ ถ่ายออกมายังไงก็ชัดเพราะไอซีแสนฉลาดมันควบคุมการปรับแสง สี เสียง ฯลฯ สารพัดที่คุณเองยังไม่รู้เลยว่าคืออะไรแต่ก็อยากได้เพราะคนขายมันบอกว่าดี ก็ถ้าเก่งจริงทำไมไม่ให้กล้องมันถ่ายเองเลยล่ะ จะบอกให้ว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตัวคุณเอง หนังที่ถ่ายโดยกล้องราคาแสนเจ็ด กับกล้องราคาหมื่นเจ็ดนั้น จะเห็นความแตกต่างชัดๆ เมื่อนำหนังที่ถ่ายมาผลิตขายจ่ายแจก แต่ถ้าดูที่บ้านแล้วต้องตาถึงจึงจะมองออกว่าต่างอย่างไร ดังนั้นถึงคุณจะใช้กล้องแพงแค่ไหนก็ตามคุณภาพของหนังจะตกอยู่กับการถ่าย ถ้าหนังของคุณชัดแจ๋วแต่ส่ายไปมาเหมือนอยู่ในเรือฝ่าคลื่นทะเลบ้า หรือถ่ายคนติดแค่ตัวหัวอยู่นอกจอ หรือเอาแต่ส่ายกล้องตามจับภาพไอ้ตัวเปี๊ยกวิ่งไล่จับกันตลอด ก็คงมีแต่คุณคนเดียวที่นั่งชื่นชมผลงานชิ้นเอก หนังที่ดีจะเล่าเรื่องให้แก่ผู้ฟัง พอดูแล้วก็เข้าใจได้เอง รู้ว่าเป็นอะไร เกิดขึ้นที่ไหน และอย่างไร แรกๆ ก็อย่ากลัวว่าผลงานจะออกมาไม่ได้ระดับหนังหลอด(ลอร์ดออฟเดอะริงก์)หรอกนะ เอาแค่พอดูได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว
วิธีบอกเล่าพื้นฐานการถ่ายหนังเล็ก เนื่องจากผมทำเรื่องผิดพลาดมามากดังนั้นแนวทางการถ่ายทอดของผมจะเดินเรื่องโดยบอกสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยง แทนที่จะบอกว่าคุณควรทำอะไร หรือบางทีผมก็จะบอกว่าถ้าจะทำอย่างนี้ให้ทำอย่างไร จะถูกจะผิดก็ลองทำกันดูนะครับ ไม่ใช่ตำราวิชาการนี่ อีกอย่างหนึ่งคือตามที่แจ้งคำเตือนไว้ตอนต้นนั้น เป็นเพราะว่าการถ่ายเพื่อดูเองที่บ้านนั้นต่างจากการถ่ายเผื่อตัดต่อตรงที่ช่วงเวลาการแช่ภาพสำหรับโฮมวีดีโอจะสั้นกว่ามากเพื่อให้เหมาะสมกับการชม ต่างจากการแช่ภาพสำหรับการตัดต่อที่จะนานกว่าเผื่อไว้สำหรับการเลือกภาพเอามาใช้งานและเพื่อประโยชน์ในการตัดต่อ
อย่าส่ายไปมาไม่มีจุดสนใจที่แน่นอน การถ่ายต่อเนื่องยาวนาน ส่ายกล้องไปมาโดยไม่จับภาพที่จุดสนใจใดๆ ภาพที่ได้เหมือนมองผ่านสายตาคนเมายาเลื่อนลอยไปมา ผล ผู้ชมไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไรให้ดูและน่าเบื่อมาก การแก้ไข เลือกจุดสนใจแล้วถ่ายแช่ไว้สัก 5-10 วินาที การทำเช่นนี้จะทำให้คนดูเข้าใจว่าต้องการให้ดูอะไร และสำหรับผู้ตัดต่อก็รู้ได้ว่าช็อทเริ่มและจบลงตรงไหน
อย่าถ่ายแช่นานๆ โดยไม่มีเหตุอันควร เอ๊ะเมื่อตะกี้บอกอย่าส่ายกล้องไปมา คราวนี้มาบอกว่าไม่ให้ถ่ายแช่ จะเอายังไงกัน คือมันเป็นอย่างนี้ครับ ลองสังเกตตัวเองดูสิว่าเราไม่มองอะไรที่เดียวนานๆ หรอก ตามันคอยจะส่ายๆไปมองโน่นมองนี่อยู่ตลอดละครับ บางครั้งก็มองใกล้ บางครั้งก็มองไกล ผล เมื่อแช่ภาพนานๆ โดยไม่มีเหตุผลจะทำให้คนดูเกิดความเบื่อหน่ายกับขนาดภาพที่อยู่คงที่นานเกินไป การแก้ไข ให้เปลี่ยนขนาดภาพหรือเปลี่ยนมุมมองใหม่ เช่นหลังจากถ่ายภาพเด็กทั้งกลุ่มได้ภาพเต็มตัวมีต้นไม้ข้างบนกับสนามหญ้าติดมาด้วย (เรียกLong Shot หรือ LS)อยู่สักครู่ก็ให้หยุดแล้วเดินเข้าไปใกล้ขึ้นแล้วเลือกถ่ายเด็กที่กำลังเล่นเมามันที่สุดให้เห็นแค่ครึ่งตัว(เรียก Medium Shot หรือ MS) หรือเปลี่ยนมุมมองด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งที่ยืนไปที่อื่นด้วยการเดินในแนววงรอบกลุ่มเด็ก แต่ต้องไกลจากที่เดิมพอควรนะครับเพื่อป้องกันภาพกระตุกซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป
อย่าหยุดถ่ายกลางคัน โอยไอ้นี่มันจะบ้าแล้ว ไม่ให้ถ่ายยาว คราวนี้ยังจะไม่ให้หยุดถ่ายอีก อดทนหน่อยนะครับ ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะว่าไม่อยากให้คุณยึดติดกับหลักการมากเกินไปโดยไม่เข้าใจเหตุผล ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณกำลังถ่ายผู้ใหญ่กำลังให้พรซึ่งนานเกิน 10 วินาทีอย่างที่บอกไว้แน่นอน ก็ให้ถ่ายต่อให้จบคำให้พรก่อนก็ได้ ถ้าคุณหยุดถ่ายเสียก่อนแล้วเปลี่ยนมุมมองหรือขนาดภาพก็จะทำให้คำพูดขาดตอนเกิดความไม่ต่อเนื่องทางเนื้อหาแทน
มาหาอะไรถ่ายเล่นกัน มาลองของกันหน่อยดีกว่า จะได้รู้ว่าหลักการเบื้องต้นที่บอกมานี่มันใช้ยังไง และจะเป็นการถ่ายแบบไม่ต้องตัดต่อก็ออกมาดูดีด้วย โดยเราจะไปถ่ายดอกไม้กัน เป้าหมายคือสวนสาธารณะ หรือถ้าอยู่ในหมู่บ้านก็ดอกไม้ที่บ้านอื่นปลูกไว้นั่นละครับ เตรียมกล้องให้พร้อมแล้วออกเดินไปเลย ระหว่างเดินก็มองหาดอกไม้สวยงามไปเรื่อยๆ ดอกไม้นี่ดีนะครับสวยมากสวยน้อยก็ไม่เล่นตัวทั้งต้นมีสวยดอกเดียวก็ถ่ายได้แล้ว ก็ถ่ายใกล้ๆ เห็นดอกเดียวเกือบเต็มจอเลย (Close up Shotหรือ CS) ถ่ายแช่ไว้สัก 5 วินาที แล้วหยุด แล้วก็ออกเดินต่อ อ้าวตรงนั้นมีอีกดอกเต็มต้นเลย คราวนี้เราจะถ่ายภาพขนาดปานกลาง(MS) คือเห็นส่วนใหญ่ของพุ่มและดอกแต่ไม่เห็นทั้งต้น อีก 5วินาที แล้วมองหาดอกอื่นๆ ต่อไปอีก ถ้าคุณมีดอกไม้ให้เลือกมาก ให้ถ่ายสลับไปดอกไม้สีอื่นบ้าง เช่นถ่ายดอกเหลืองแล้วก็เปลี่ยนไปถ่ายดอกแดงหรือดอกขาวบ้าง ไม่ก็แหงนหน้าถ่ายยอดไม้สวยๆ ตัดกับท้องฟ้าบ้าง อย่าลืมเปลี่ยนมุมมองด้วยนะครับเพราะดอกไม้ส่วนใหญ่ไม่อยู่สูงทำให้คุณต้องก้มลงไปถ่ายเกือบตลอดก็ได้แต่ภาพดอกไม้มุมต่ำที่เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนดอกเปลี่ยนสีแล้วก็เปลี่ยนมุมมองด้วยเช่นย่อเข่าลงไปให้กล้องอยู่ระดับเดียวกับดอกไม้แล้วถ่าย รับรองว่าถ้าคุณออกไปถ่ายอะไรแบบนี้สักชั่วโมง กลับมาก็จะได้หนังสวยงามไว้อวดเพื่อนได้สัก 5 นาทีสบายๆ (ตัวอย่าง  1.01MB)
เมื่อต้องเปลี่ยนขนาดภาพถ้าเดินได้อย่าใช้ซูม ทั้งนี้เพราะเมื่อคุณซูมเข้ามุมของการรับแสงจะจำกัดลงตามขนาดภาพที่แคบลง ผล ภาพจะสั่นไหวง่ายเพราะเหมือนกับการเล็งเป้าเล็กที่ระยะไกล และภาพจะพร่ามัวได้ง่ายเพราะกล้องต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อจับภาพที่มีแสงเข้ามาน้อยลง การแก้ไข ปรับกล้องเป็นซูมออกให้สุดซึ่งคุณจะได้ภาพมุมกว้าง เมื่อต้องการภาพเต็มตัว(LS)ก็ให้ถอยห่างออกมา เมื่อต้องการถ่ายภาพครึ่งตัว(MS)ก็เดินเข้าไปใกล้ขึ้น ถ้าต้องการเฉพาะใบหน้า(CS)ก็เข้าไปใกล้ๆ เลย อ้าวแล้วกล้องเค้าทำซูมมาทำไมไม่ใช้ล่ะคุณคงสงสัย ก็ใช้เถอะครับถ้าคุณไม่สามารถเดินเข้าออกได้หรือมีคน มีพุ่มไม้ มีรั้ว หรือน้ำ ฯลฯ ขวางอยู่
อย่าใช้ซูมเปลี่ยนขนาดภาพขณะถ่ายบ่อยเกิน เพราะคนดูจะเกิดอาการมึนกับขนาดภาพที่เปลี่ยนบ่อยๆ นั่นเอง ลองทำแบบนี้ดูนะยกนิ้วขึ้นมานิ้วหนึ่งเลื่อนเข้าเลื่อนออกช้าๆ ตาก็มองตามที่ปลายนิ้วตลอด ทำแบบนี้ซ้ำๆ ประเดี๋ยวเดียวพอเริ่มมึนก็รู้ว่าที่ผมบอกนี่มันคืออะไร ขนาดภาพนี่นะครับถ้าเปลี่ยนแบบฉับพลันจะเป็นรูปแบบที่สมองเข้าใจได้ดีกว่าเพราะเหมือนกับการมองปกติ แต่ในการถ่ายหนังเราสามารถใช้การซูมมาช่วยเสริมให้น่าดูขึ้นได้เหมือนกันถ้าไม่ใช้บ่อยเกินไป เข้าทำนองเดินสายกลางไว้แหละดี
ตัวอย่างการใช้และไม่ใช้ซูมเปลี่ยนขนาดภาพ โดยธรรมชาติแล้วเมื่อคุณถ่ายวัตถุที่อยู่ใกล้ก็จะได้ภาพมุมแคบของวัตถุนั้นแต่เมื่อวัตถุอยู่ห่างออกไปก็จะได้ภาพมุมกว้างขึ้นเสมือนกับการใช้ซูม ตัวอย่างการใช้ซูมปรับขนาดภาพเช่นซูมเข้าสุดถ่าย CS แช่ภาพแมลงไต่ตอมอยู่บนเกษรดอกไม้ ค่อยๆ ซูมออกเห็นดอกไม้ทั้งดอกหรือทั้งช่อเป็น MS แช่ภาพสักครู่แล้วหยุดเดินเทป ต่อไปมองหาต้นไม้สูงใหญ่มีร่มเงาสวยงามซูมออกให้หมดแหงนกล้องขึ้นเดินเทปแช่ภาพที่ยอดไม้สวยตัดกับท้องฟ้า(อย่าถ่ายย้อนแสงเข้าล่ะ)อันนี้จะเป็นภาพมุมกว้าง LS เห็นเรือนยอดเกือบทั้งหมด แล้วเลื่อนภาพลงมาตามลำต้นด้วยความเร็วพอที่กล้องจะปรับแสงเองได้ทันลงมาจบที่ใบหน้าอันงดงามหรือหล่อเหลา(อ้าวเป็นแฟนเรานี่เอง) ที่โคนต้น ตรงนี้ภาพจะกลายเป็น MS หรือ CS แล้วแต่ว่าแฟนเราอยู่ไกลหรือใกล้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขนาดภาพของจุดสนใจที่ระยะต่างกันโดยไม่ต้องใช้ซูม
อย่าแพนยาว-ว-ว-ว การแพนคือส่ายกล้องจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งโดยคุณอยู่กับที่ เช่นจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้ายสมมุติเรื่องมันเกิดขึ้นตรงชายหาด แล้วคุณเริ่มเดินเทปจากปลายชายหาดด้านซ้ายแล้วคุณก็บรรจงแพนช้าๆ ออกไปที่ทะเล ยาวไปเรื่อยๆ เอื่อยๆ หวังให้ผู้ชมได้ซึมซับกับกลิ่นไอทะเลสายลมและแสงแดดเหมือนที่มันกำลังกระแทกคุณอยู่ จนในที่สุดก็มาบรรจบเจอชายหาดทางขวามือ อันที่จริงคุณอยากแพนต่ออีกแต่เอวมันบิดไม่ไปแล้วเลยต้องหยุด เมื่อนำกลับมาดูก็พบว่าพอภาพชายหาดทางด้านซ้ายที่ไม่มีจุดสนใจอะไรเลยวิ่งลับออกไปทางซ้ายของจอแล้วก็จะเป็นภาพทะเลกับขอบฟ้าที่ดูให้ซึ้งยังไงๆ ก็ฟ้ากับทะเลเหมือนๆ กัน เลื่อนเข้ามาแล้วออกไปเหมือนเดิม จนไปจบที่ชายหาดที่วิ่งเข้ามาทางขวาแล้วก็ไม่มีจุดสนใจเช่นกัน แค่ฟังก็เบื่อแล้วครับสงสารคนดูเถอะ ดังนั้นถ้าภูมิทัศน์ไม่มีความหลากหลายน่าดูจริงๆ แล้ว อย่าทำเลยครับการแพนยาวๆ เนี่ย
ถ้าจะแพนลองทำอย่างนี้ ให้กำหนดช่วงแพนก่อนถ่ายเข้าทำนองคิดก่อนทำ อย่ายกกล้องเล็งปุ๊ปแพนปั๊บ เดาตอนจบได้เลยเวลาคุณถูกคนดูพิพากษาหน้าจอ ให้ทำอย่างนี้ครับคือทดลองแพนโดยไม่ต้องเดินเทป ทำอย่างนี้จะช่วยให้คุณรู้มือว่าจังหวะเป็นอย่างไร แพนสั้นๆ พองาม การลดความโลภมาถ่ายทีละน้อยแต่ได้ภาพที่น่าดูได้ผลดีกว่าการโกยเก็บภาพโดยไม่เลือกแน่นอน
ก่อนแพนให้มองหาจุดจบที่น่าสนใจ การแพนสั้นๆ พองามสามารถทำได้ และให้ผลดี แต่ให้หาจุดจบที่น่าสนใจรอไว้ เพราะเปรียบการแพนคือการนำสายตาผู้ชมไปยังสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าคุณดันไปทำกลับกันคือเริ่มจากสิ่งที่น่าสนใจไปจบยังสิ่งที่ไม่น่าสนใจแล้วคุณนำเขาไปดูอะไรล่ะจริงไหมครับ คุณอาจจะเริ่มจากจุดที่น่าสนใจน้อยกว่า แช่ภาพไว้สัก 2 วินาที แล้วเริ่มแพนออกไปทางวัตถุที่กำหนดไว้เป็นจุดจบ การแพนต้องไม่เร็วเกินไปและไม่ช้าเกินไป อันนี้ต้องทดลองดูเอง เมื่อไปถึงจุดที่กำหนดไว้เป็นที่จบก็ให้แช่ภาพไว้อีกสัก 2 วินาทีแล้วจึงหยุดเดินเทป ถ้าถ่ายมาเผื่อตัดต่อให้แช่ภาพตอนต้นและจบเป็น 5 วินาทีไปเลยครับ (ตัวอย่าง 892KB)
แพนทางเดียวในหนึ่งช็อต อย่าแพนไปแล้วแพนกลับ เช่นหลังจากแช่ภาพเมื่อเริ่มช็อทคุณแพนไปทางขวาเมื่อถึงจุดที่ตั้งใจไว้ให้จบก็แช่ภาพแล้วหยุดเดินเทป อย่าแพนย้อนกลับไปทางซ้ายอีกทั้งนี้เพราะผู้ชมเพิ่งเห็นภาพที่คุณแพนผ่านมา การแพนกลับไปทางเดิมไม่ได้ทำให้ผู้ชมเห็นอะไรเพิ่มขึ้นนอกจากทำให้เบื่อ
อย่าเดินเทปหรือหยุดเทประหว่างแพน ถ้าคุณไม่แช่ภาพนิ่งก่อนการแพนและเมื่อหยุด จะทำให้สะดุดทางความต่อเนื่อง เห็นได้ชัดอย่างยิ่งเมื่อคุณหยุดเดินเทประหว่างการแพน คุณจะทำให้คนดูหลงภาพ เพราะปกติเมื่อคนเราจะส่ายตาไปทางใดก็เพื่อจะไปจับจ้องที่อะไรสักอย่าง แต่เมื่อคุณหยุดเดินเทปเสียก่อนขณะภาพกำลังเคลื่อนระหว่างการแพน คนดูก็จะเกิดอาการมองเก้อไม่พบกับสิ่งสนใจสักอย่าง
เคยถ่ายข้างทางจากรถที่วิ่งอยู่ไหมครับ บางทีนะเราไปเจอทิวทัศน์ที่บริเวณข้างทางสวยไปหมด เลยอยากถ่ายเก็บไปฝากคนทางบ้าน แต่พอกลับมาดูแล้วเห็นแต่หญ้าวิ่งผ่านเร็วปรื๋อดูแล้วเวียนหัวไปหมด เหตุผลคือภาพหญ้าข้างทางกินเนื้อที่ส่วนใหญ่ของภาพเลยกลายเป็นจุดสนใจและดึงสายตาผู้ชมแต่ภาพของวัตถุที่อยู่ใกล้เคลื่อนที่เร็วมากจนสายตาจับไม่ทัน วิธีแก้ง่ายมากคือกระดกกล้องให้สูงขึ้นอีกเช่นไปเล็งที่ขอบฟ้าแทนเพื่อให้ส่วนของหญ้าที่วิ่งผ่านหน้ากล้องกินเนื้อที่ส่วนน้อยของภาพ ก็จะช่วยลดความเครียดของสายตาผู้ชมได้
ทำอย่างไรไม่ให้กล้องสั่น ตั้งใจเลยว่าจะไม่บอกก่อนชวนไปลองถ่ายดอกไม้เพื่อที่ว่าบางคนอาจจะสังเกตเห็นว่าภาพสั่น การแก้ไข ใช้เทคนิคของการยิงปืนซิครับ คือให้หายใจเข้าแล้วกลั้นไว้เมื่อเดินเทปก็หายใจออกช้าๆ ระหว่างนั้นก็นับ หนึ่งพันหนึ่ง หนึ่งพันสอง หนึ่งพันสาม ไปเรื่อยๆ จนหยุดถ่าย ผลดีคือมือจะนิ่งและคุณกำหนดไทม์มิ่งของการถ่ายไปด้วยในตัว ไม่ต้องง้อนาฬิกาจับเวลา อีกอย่างคือใช้สองมือช่วยประคอง เช่นมือซ้ายจับข้อมือขวา หรือมือซ้ายเหยียดปลายนิ้วทั้งสี่แตะประคองด้านซ้ายของกล้องส่วนนิ้วหัวแม่มือซ้ายกางออกมายันข้อมือขวา
มองผ่านวิวฟายเดอร์ให้เป็นนิสัย บางท่านอาจงงว่าส่วนไหนคือวิวฟายเดอร์ กล้องวีดีโอสมัยนี้จะมีจอแอลซีดีพับได้อยู่ทางซ้ายของกล้อง ส่วนวิวฟายเดอร์คือช่องมองภาพเล็กๆ ที่อยู่ด้านบนทางท้ายของกล้อง โดยพื้นฐานแล้ววิวฟายเดอร์เป็นจอแอลซีดีเหมือนกัน แต่มีขนาดเล็กและกินไฟน้อยกว่าเมื่อเทียบกับจอแอลซีดีขนาดใหญ่ด้านข้างกล้อง ดังนั้นเหตุผลข้อแรกเมื่อใช้วิวฟายเดอร์แล้วพับจอแอลซีดีเก็บไว้คือคุณจะใช้ไฟจากแบตเตอรี่ได้นานกว่าเกือบ 20เปอร์เซนต์ เหตุผลอีกข้อคือเมื่อถ่ายหนังอยู่นั้นเราจะต้องมองหาจุดสนใจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง การใช้วิวฟายเดอร์นั้นผมจะไม่เอาตาขวาไปแนบกับช่องมองแต่จะเอาออกห่างจากตาประมาณ 1 นิ้ว (ลองหงายกล้องขึ้นจะเห็นคันโยกปรับระยะโฟกัสอยู่ใต้วิวฟายเดอร์) และไม่ปิดตาซ้ายจึงสามารถมองตรงไปที่เหตุการณ์ข้างหน้าและรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวรอบๆ ในขณะที่ตาขวาจะมองผ่านวิวฟายเดอร์เห็นเป็นภาพซ้อนกันเพื่อเช็คว่าวัตถุที่ถ่ายอยู่ในกรอบภาพหรือไม่ เหล่านี้จะไม่สามารถทำได้ถ้าใช้จอแอลซีดีด้านข้างเพราะเมื่อกางออกมามันจะบังทุกสิ่งข้างหน้าและต้องมองดัวยสองตาเต็มๆ ดังนั้นจึงลดขอบเขตของการมองสภาพแวดล้อมไปโดยปริยาย
มองหาเรื่อง เปล่าไม่ได้จะทะเลาะกับใครหรอก การถ่ายหนังให้สนุกคุณต้องมองหาจุดสนใจ ยกตัวอย่างเช่นคุณถ่ายเพื่อนๆ กำลังคุยกันสนุกสนาน ถ้าถ่ายแบบขี้เกียจหลังยาวแล้วหวังจะได้หนังดีก็เอาขาตั้งกล้องมาตั้งแล้วเก็บภาพมุมกว้างเห็นทีเดียวหมดแปดคนไปเลย หนังคงออกมาดี-ไปดีอย่างหวัง แต่ถ้าถ่ายแบบลงทุนลงแรงแล้วคุณต้องเปลี่ยนภาพไปยังคนที่กำลังเป็นจุดสนใจในกลุ่ม การจะทำเช่นนี้ได้คุณต้องรับรู้สภาพแวดล้อมว่ากำลังเกิดอะไร ถ้าคุณเป็นคนฟังคุณก็ต้องมองคนพูด ดังนั้นให้เดินเทปจับภาพคนที่กำลังพูดยาว นานนักก็เปลี่ยนไปที่ผู้ฟังที่กำลังอยู่ในอิริยาบทต่างๆ กัน สลับไปมา เปลี่ยนมุมไปถ่ายจากจุดอื่นเป็นระยะๆ เปลี่ยนขนาดภาพด้วยการซูมเข้าออกถ้าห้องมันเล็กจนใช้วิธีเดินเข้าออกไม่ได้ การมองภาพผ่านวิวฟายเดอร์ตามที่แนะนำมาก่อนจะทำให้คุณเห็นเหตุการณ์ได้กว้างขึ้น และเลือกจุดสนใจใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น อ้าวนั่นคนฟังหัวเราะจนตัวงอแล้วต้องเก็บภาพไว้สักหน่อย
อย่าวางกล้องตากแอร์ บางคนรักกล้องวีดีโอราคาแสนแพงโดยวางเอาไว้ในห้องแอร์ การทำอย่างนี้นอกจากไม่ช่วยแล้วยังทำร้ายกล้องแสนรักของคุณด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะพอกล้องของคุณเย็นฉ่ำได้ที่แล้วคุณปิดแอร์ช่วงที่กล้องเริ่มสัมผัสกับอากาศที่อุ่นขึ้นจะเกิดไอน้ำควบแน่นเป็นฝ้าบางๆที่ทุกชิ้นส่วนในกล้อง เป็นเช่นนี้ทุกวันทุกคืนที่คุณวางมันไว้ ซึ่งไม่ส่งผลดีเลยในระยะยาว ไม่เชื่อก็ลองสังเกตเวลาเอากล้องลงจากรถที่เปิดแอร์เย็นๆ มาถ่ายสิครับ เลนส์นี่เป็นฝ้าไปพักใหญ่เลย แค่เอากล้องใส่กระเป๋าที่เขาแถมมาให้แล้วใส่ในตู้ในห้องที่ไม่โดนแดดจังๆ เท่านี้ก็เป็นการรักษากล้องแล้วครับ
ถ่ายต่อให้หมดม้วน เมื่อถ่ายหนังยังไม่หมดม้วน อย่ากรอเทปกลับไปเริ่มต้นใหม่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ต้องการส่วนที่อยู่ต้นเทปก็ตามยกเว้นว่าเทปเหลือน้อยมากจนแน่ใจว่าไม่พอถ่ายครั้งต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เนื้อเทปมีการสึกหรอสม่ำเสมอเท่าๆ กันทั้งม้วน จากประสบการณ์ในการแปลงวีดีโอของผม ผมเสียดายหนังที่ถ่ายไว้ดีแต่ภาพแย่ตอนต้นม้วนแล้วไปได้ภาพดีๆ เอาเกือบครึ่งม้วนไปแล้วเพราะนิสัยการกรอเทปแบบนี้
เว้นวรรค อันนี้หมายถึงเมื่อคุณเริ่มถ่ายที่ต้นเทปให้คุณเอาฝาปิดหน้ากล้องไว้แล้วเดินเทปทิ้งไว้สัก 10 วินาที ทั้งนี้เผื่อว่าคุณนำเทปไปตัดต่อ จะได้มีระยะเผื่อตอนต้นเทปสำหรับโปรแกรมจับภาพจะได้ทำงานได้ทัน อย่าใช้วิธีกรอเทปเดินหน้าแทนนะครับ เพราะการกรอจะไม่มีไทม์โค๊ดถูกบันทึกในเทปส่วนที่ถูกกรอข้ามไป ซึ่งไม่เหมือนการถ่ายแบบปิดหน้ากล้องที่ได้ภาพดำแต่มีไทม์โค๊ดบันทึก นอกจากนี้ถ้าคุณจบการถ่ายต่อเนื่องแต่ละที่ให้แช่ภาพไว้ไว้สัก 5 วินาที ส่วนนี้เป็นระยะเผื่อเมื่อคุณกรอเทปกลับไปดูภาพที่ถ่ายไว้แล้วกลับมาถ่ายต่อจะได้มีหางเทปที่คุณสามารถถ่ายทับได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของไทม์โค๊ด ถ้าคุณไม่เผื่อรระยะนี้ไว้คุณจะต้องกรอเทปถอยไปเริ่มถ่ายทับภาพของช็อทสุดท้ายหน่อยนึงจึงจะเกิดความต่อเนื่องของไทม์โค๊ด นั่นทำให้ช็อทสุดท้ายของคุณสั้นลงหรืออาจจะกินส่วนที่แช่ภาพไว้หายไปหมดเลยก็ได้
พูดหลังกล้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างหนังใบ้ เมื่อคุณเริ่มถ่ายตามสถานที่ต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ให้พูดบรรยายเข้าไปหลังกล้องตอนที่เริ่มเดินเทปแช่ภาพ เสียงบรรยายหลังกล้องนี้จะให้ข้อมูลแก่ผู้ชม จึงไม่ต้องเดาเอาเองว่าที่ไหนหรือเรื่องอะไร และขอยืนยันว่าทำให้หนังดูสนุกขึ้นจริงๆ แต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ คืออย่าพูดมากเกินไป เอาให้พองามดูแล้วสนุกก็พอนะครับ อีกอย่างคืออย่าลืมเช็คระดับเสียงด้วยว่าที่คุณพูดเข้าไปหลังกล้องนั้นเสียงชัดเจนดีหรือไม่ หาไม่แล้วเสียงที่บรรจงพูดจะกลายเป็นเสียงอู้อี้น่ารำคาญฟังไม่รู้เรื่องไปเสีย
ถ่ายป้ายชื่อ นี่ก็เป็นวิธีคลาสสิกที่ทำให้หนังดูมีระดับขึ้น คือถ้ามีก็เริ่มช็อทเปิดด้วยการถ่ายป้ายชื่อถนนหรือชื่อสถานที่หรือวัตถุที่เป็นที่รู้จักกันดี ยกตัวอย่างถ้าคุณถ่ายภูเขาทอง หรือด้านหน้าวัดพระแก้วคนส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าคือที่ไหน หรือจะถ่ายลูกซ้อมดนตรีที่โรงเรียนก็ถ่ายป้ายโรงเรียน "โรงเรียนลูกรัก" ถ่ายป้ายหน้าห้อง "ห้องขิม" ก่อนเข้าไปถ่ายลูก ภาพทำนองนี้ช่วยเล่าเรื่องให้คนดูได้ดี แต่ก็ต้องอาศัยการวางแผนด้วยเช่นกัน อย่าเริ่มด้วยการตะลุยถ่ายแต่คนอย่างเดียว
เดินถ่ายตามหลัง ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือเราจะถ่ายข้างหลังคนที่กำลังเดินไปไหนสักแห่ง ก็ให้เดินตามไปแล้วก็ถ่ายตามหลังไปด้วย จะได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวและเล่าเรื่องได้ดี แต่อย่าให้ยาวเกินจะออกไปทางน่าเบื่อแทน ทางที่ดีให้ตกลงกับนางแบบหรือนายแบบเสียก่อน โดยเริ่มถ่ายก่อนถึงสถานที่สักหน่อย ออกเดินแล้วถ่ายตามหลังไปสักเดี๋ยว พอถึงเราก็เลื่อนกล้องออกไปจับภาพสถานที่หรือวัตถุนั้น คนดูไม่รู้หรอกว่าเตี๊ยมกันมา
ถ่ายข้ามหัว เปล่านะผมไม่ได้ให้คุณทำอะไรเลอะเทอะข้ามหัวชาวบ้านหรอก แต่เพราะบางครั้งเราต้องพบสถานการณ์ที่มีผู้คนบังกล้องอยู่ทำให้ไม่สามารถเล็งกล้องในระดับสายตาไปที่วัตถุที่จะถ่ายได้ เช่นคุณอยากถ่ายเอฟ 16 ในงานวันเด็ก หรือลูกของคุณที่กำลังเต้นอยู่ในสนาม แต่ที่ยืนริงไซด์ถูกจับจองไว้แน่นเหมือนกำแพง แบบนี้เล่นไม่ยากหรอกครับ ให้กางจอแอลซีดีออกมาแล้วบิดเข้าหาตัวคว่ำลงเล็กน้อย คราวนี้ชูกล้องขึ้นเหนือหัวแล้วเงยหน้าขึ้นมองจอแทน ถ้าจะต้องซูมหาเป้าหมายจะทำได้ยากกว่าการถือกล้องในท่าปกตินิดหน่อย แต่ให้ทำอย่างนี้นะครับ คือซูมออกให้หมดจนเห็นภาพมุมกว้างก่อน พอเห็นเป้าหมายแล้วค่อยๆ ซูมเข้าไปจนได้ขนาดภาพที่พอใจ การถ่ายแบบนี้ต้องทนเมื่อยแขนและคอหน่อยนะครับ วิธีแก้เมื่อยก็ให้แฟนบีบนวดให้ไม่ต้องเสียตัง
การวางตำแหน่งภาพ เมื่อต้องถ่ายใบหน้าคน ให้คุณลืมๆ รูปถ่ายของตัวเองในชุดนักเรียนไปเลย กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องถ่ายหน้าตรง และอยู่กลางภาพหรอกครับ ลองเปลี่ยนตำแหน่งเฉียงมาทางแก้มของวัตถุแล้วถ่าย MS หรือ CS ก็ได้ โดยเว้นช่องว่างระหว่างกรอบภาพกับจมูกจะทำให้การจัดวางภาพดูดีขึ้น นอกจากนี้ระวังมุมกล้องอย่าให้มีเสาไฟไปอยู่ข้างหลังคน เพราะเมื่อถ่ายออกมาแล้วจะดูตลกมากเหมือนมีเขางอกออกมาจากหัว เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ต้องละเอียดรอบคอบ กฏ RULE OF THIRDS บอกไว้ว่าให้สมมุติเส้นแนวนอนสองเส้นแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน และแนวตั้งสองเส้นแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน
                                        
ทีนี้เวลาวางภาพลงในกรอบท่านบอกว่าให้วางจุดสนใจลงบนเส้นแนวตั้งหรือแนวนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงที่เป็นจุดตัดทั้งสี่จุด ถ้าทำอย่างนี้ได้ภาพก็จะออกมาน่าสนใจเป็นพิเศษ จากรูปจะเห็นว่าตัวคนวางอยู่บนเส้นแนวตั้งทางซ้ายมือ และใบหน้าอยู่บนจุดตัดด้านบนซ้ายพอดี
เปลี่ยนมุมมองต้องห่างจากเดิมพอควร อย่างที่บอกไว้ว่าให้เปลี่ยนมุมมองบ่อยๆ เพื่อให้ภาพออกมาดูไม่น่าเบื่อ แต่การเปลี่ยนตำแหน่งยืนของเรานี้ก็มีหลักการอันหนึ่งคือให้เกิน 30องศาเป็นอย่างต่ำ สมมุติว่าคุณถ่ายภาพตรงหน้าของวัตถุในช็อทแรก เมื่อต้องเปลี่ยนมุมก็ให้เดินไปในแนววงกลมรอบวัตถุโดยให้ทำมุมกับแนวเดิมไม่ต่ำกว่า 30 องศา ทำไมหรือครับ ก็เพราะว่าความจำของคนเราเนี่ยจะจำภาพเดิมได้ดังนั้นถ้าคุณถ่ายช็อทต่อไปแล้วมุมของภาพไม่ต่างจากเดิมมากและขนาดภาพก็ไม่เปลี่ยน ภาพในช็อทถัดมาจะทำให้คนดูรู้สึกว่าเกิดอาการกระตุกหรือกระโดด เพราะสมองเอาไปเปรียบเทียบกับภาพสุดท้ายในช็อทที่แล้ว การแก้ไข อย่างที่บอกไว้ว่าเปลี่ยนไปจุดใหม่ให้ห่างกว่าเดิม หรือไม่ก็เปลี่ยนขนาดภาพไปเลย เช่นถ้าเดิมเป็น MS ก็เปลี่ยนเป็น CS แทน
ถ่ายของใหญ่ เช่นช้าง ถ้าไม่บอกกันก่อนคุณอาจถ่ายมุมกว้างเพื่อเก็บภาพช้างทั้งตัวตลอดเวลา ซึ่งจะออกมาน่าเบื่อนะครับ ลองแบบนี้ดูคือถ่าย CS ตา, MS งวง, MS ขา, CS เท้า, MS หูกระดิก, MS บั้นท้าย, LS ด้านหน้าเต็มตัว จะเห็นว่าเรามาเฉลยตอนหลังว่านี่คือช้าง อันนี้เป็นเรื่องแปลกเพราะเมื่อถ่ายของใหญ่ๆ เช่นภูเขา โบราณสถาน บ้าน หรือเล็กๆ หน่อยอย่างช้าง อะไรทำนองนี้ ไม่จำเป็นต้องถ่ายมุมกว้างเพื่อจะเก็บภาพของวัตถุดังกล่าวตลอดเวลา คุณอาจเก็บภาพมุมกว้างไว้บ้างเพื่อให้เห็นภาพรวม แต่ส่วนใหญ่แล้วให้ถ่ายMS/CS ของรายละเอียด เช่น ยอดภูเขา ไหล่เขา ที่ราบเชิงเขา หรือ รูปแกะสลัก ทับหลัง การเรียงอิฐ ยอดปราสาท กาฝากเกาะหิน หรือ บันไดบ้าน จั่วหลังคา กาแล กระถางต้นไม้ (ดูบ้านที่มันสวยๆ น่าถ่ายหน่อย) เหล่านี้คงพอไปทดลองต่อได้นะครับ ยังไงๆ คุณก็เอาภูเขาทั้งลูกไปใส่ไว้ในจอทีวีไม่ได้อยู่แล้ว ค่อยๆ แบ่งส่วนถ่ายดีกว่าน่าสนใจกว่าเยอะ
เรื่องของเสียง เมื่อต้องถ่ายคนพูดในที่ที่มีเสียงอื่นดังอยู่รอบๆ หากคุณไม่มีไมโครโฟนแบบฃูมหรือแบบลากสายแล้วเป็นไปได้มากทีเดียวว่าเสียงคนพูดจะถูกเสียงอื่นกลบจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง ในสถานการณ์แบบนี้คุณต้องเคลื่อนกล้องเข้าไปใกล้ผู้พูดให้มากที่สุด เพื่อที่ระดับเสียงของผู้พูดที่เข้ามาที่ไมค์ฯ จะดังกว่าเสียงรบกวนได้มากกว่า
แบลงค์เซิช หรือเอนด์เซิช ระบบค้นหาจุดสุดท้ายบนเทปที่ทำการบันทึก หลังจากกรอเทปกลับไปดูสิ่งที่ถ่ายไว้แล้วต้องการถ่ายต่อจากจุดสุดท้ายที่หยุด กล้องสามารถหาตำแหน่งนี้ให้เราได้โดยการเลือกโหมดเพลย์แบ็คแล้วกดปุ่มเอนด์เซิช หรือแบลงค์เซิช เพื่อหารอยต่อระหว่างส่วนที่มีภาพกับส่วนที่ไม่มีภาพให้เราโดยอัตโนมัติ ดังนั้นมันจึงใช้ได้กับเทปใหม่เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเทปที่เคยบันทึกมาแล้ว
ขยันถ่าย รักจะเป็นตากล้องต้องขยันถ่าย เช่นถ้าคุณไปถ่ายตามงานก็ให้ถ่ายสถานที่ ดอกไม้ การตกแต่ง โคมไฟ หรือสิ่งสวยงามต่างๆ ไว้ด้วย การได้ภาพของสิ่งเหล่านี้สลับกับภาพคน จะเป็นการเบรคให้คนดูได้ผ่อนคลายสายตา ไม่ใช่ตะลุยถ่ายแต่คนอย่างเดียว การเป็นตากล้องที่ดีจะต้องรู้จักมองหาวัตถุดิบที่มาประกอบเป็นหนังและต้องใส่ไอเดียลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น จะถ่ายผู้ใหญ่กล่าวเปิดงาน ก็ให้ไปถึงงานเสียแต่เนิ่นๆ ถ่ายบรรยากาศการเตรียมงาน ถ่ายดอกไม้ที่ประดับโพเดียมหรือแท่นยืนพูดนั่นแหละครับ (MS/CS) ถ่าย Speech หรือกระดาษที่เขาเตรียมคำพูดกล่าวเปิด(CS)ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเขาจะพิมพ์ไว้สวยงามมากทีเดียว เมื่อผู้ชมเห็นวัตถุดิบเหล่านี้ก็จะรู้เลยว่ากำลังจะมีการกล่าวเปิด ลองเปรียบเทียบดูนะครับว่าถ้าปราศจากวัตถุดิบเหล่านี้(ของฟรีทั้งน้าน) ก็จะกลายเป็นว่าพอเริ่มฉายปุ๊บก็เห็นหน้าท่านประธานพูดปั๊บ ซึ่งดูแล้วไม่ได้อารมณ์ร่วมเลย โดยสรุปแล้วมันก็เหมือนการหาเครื่องประดับมาตกแต่งหนังของเราให้มีจังหวะและมีลีลานั่นเอง
เอาเทปเก่ามาถ่ายใหม่ ถึงกล้องจะไม่สามารถค้นหาจุดสุดท้ายที่บันทึกบนเทปเก่าให้เรา ก็ยังหาตัวช่วยได้ ทำอย่างนี้ครับคือกรอเทปกลับมาจนสุด เปลี่ยนเป็นโหมดถ่ายโดยเอาฝาปิดเลนส์ครอบไว้ แล้วเดินเทป(ถ่ายมืดๆ นั่นแหละ)ไปจนหมดม้วน คุณจะได้ภาพสีดำบันทึกไว้ตลอดม้วนแทน ทีนี้คุณก็สามารถกรอเทปหารอยต่อระหว่างช็อทสุดท้ายกับส่วนที่ภาพดำมืดเพื่อเริ่มถ่ายต่อได้ไม่ยาก อย่าลืมกรอเทปให้ล้ำเข้าไปในส่วนหางของช็อทสุดท้ายนิดหนึ่งด้วยล่ะเดี๋ยวไทม์โค๊ดจะมั่วระหว่างของเก่ากับของใหม่
การใส่เทป แหมเรื่องง่ายๆ อย่างนี้ต้องบอกด้วยเหรอ ครับเผื่อบางท่านไม่รู้จริงๆ จะได้ไม่ทำกล้องพัง กลไกของกล้องสมัยนี้ค่อนข้างบอบบางเพราะออกแบบมาให้เล็กและเบา ดังนั้นถ้าทำไม่ถูกวิธีแล้วก็พังได้เหมือนกัน เคยเห็นมาแล้วนะครับไม่ได้ขู่เล่นๆ เมื่อคุณเลื่อนสลักเปิดฝากล้องเพื่อเอาเทปออกหรือเพื่อใส่เทป ของโซนี่จะเป็นสองจังหวะนะครับคือง้างออกมาแล้วต้องดันให้สุดจังหวะสองจึงจะกระตุ้นให้กลไกส่งเทปเดินต่อ ผมเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ซื้อกล้องราคากว่าหกหมื่นบอกคนขายว่าซื้อไปเป็นเดือนแล้วยังใส่เทปไม่ได้ ก็เพราะไม่ง้างฝาจนถึงแก๊กที่สองนี่ละครับ ลองสังเกตดูนะครับว่าเมื่อซองบรรจุเทปที่เป็นโลหะเลื่อนขึ้นมาส่งเทปแล้วมีฝาดีดออกมาให้เราหยิบเทปออกหรือใส่เข้าไปใหม่ ที่ฝานี้จะมีตัวหนังสือพิมพ์ไว้ว่า PUSH HERE เมื่อจะปิดฝาให้ใช้นิ้วดันฝาตรงตำแหน่งตัวอักษรนี้ อย่าบีบฝาทั้งสองด้านเข้าหากันนะครับ ให้ดันฝาข้างที่ดีดออกมากลับไปหาซอง เมื่อเข้าที่แล้วและซองลดตัวกลับเข้าไปในกล้องดูให้แน่จนจบกระบวนการอย่าใจร้อนแล้วจึงงับฝาด้านนอกปิด
มีตลับล้างหัวเทปติดไว้ในกระเป๋ากล้อง ตลับล้างหัวเทปราคาร่วมพันแต่ไม่มีไม่ได้ ให้เลือกซื้อแบบแห้งโดยเนื้อเทปจะดูเหมือนกับเทปที่ใช้ถ่ายจริงๆ ไม่ใช่ผ้าหรือแบบที่ต้องหยอดน้ำยา เพราะเมื่อกล้องแจ้งเตือนว่าหัวเทปสกปรกแล้วต่อจากนั้นภาพจะแย่ลงทันตาเห็น และถ้าคุณไม่มีเทปล้างหัวติดไว้ระหว่างการเดินทาง คุณก็จะหมดโอกาสเก็บภาพสวยงามไว้เชยชม การล้างหัวเทปก็ทำได้โดยใส่ตลับเทปที่ว่านี้เข้าไปเหมือนกับที่เราใส่เทปปกติ ปรับกล้องไปอยู่โหมดเพลย์แบ็ค แล้วกดเพลย์ ในใจก็เริ่มนับ หนึ่งพันหนึ่ง หนึ่งพันสอง (นับต่อเองนะครับ) พอถึงหนึ่งพันสิบ ก็ประมาณ 10 วินาที ให้กดหยุด แล้วนำตลับล้างหัวเทปออกมา ถ้ายังใช้ไม่หมดม้วนอย่ากรอเทปในตลับล้างกลับ เมื่อหมดแล้วกรอกลับใหม่จะใช้ได้อีกหนึ่งรอบ โดยรวมแล้วใช้ล้างได้ประมาณร้อยครั้ง ตกครั้งละ 7-10 บาท เรื่องนี้ประหยัดไม่ได้ครับ ต้องล้าง

มีกล้องต้องใช้ให้คุ้ม เพราะเวลาไม่ถอยกลับให้เราไปถ่ายใหม่ ภาพของคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นลูก พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อน เมื่อต้องอยู่ไกลห่าง ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจให้คลายความคิดถึงที่มีต่อกัน ถึงจะทดแทนไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ช่วยบรรเทาใจ และเมื่อวันหนึ่งที่ใครบางคนจากไป คุณจะพบว่าภาพของเขาที่บันทึกไว้นั้นทรงคุณค่าไม่อาจตีเป็นราคาค่างวดได้ ดังนั้นจงคว้ากล้องขึ้นมาแล้วบันทึกทุกนาทีประทับใจเก็บไว้เสียแต่วันนี้

0 comments:

Post a Comment