Tuesday, October 21, 2014


เทคนิคการปรับกล้อง

ที่มา : http://studiodas.tripod.com/setting.htm
ระบบกันภาพสั่นไหว ที่โซนี่เรียกเป็นเครื่องหมายการค้าว่าสเตดี้ช็อท ส่วนเจ้าอื่นๆ เรียกอิมมิจสเตบิไลเซอร์นั้น เป็นการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วในกล้องโดยมีเซนเซอร์วัดอาการสั่นไหวของมือคุณ ถ้าเป็นกล้องราคาไม่แพงระดับโฮมยูสต์ที่เราใช้ๆกัน อาการสั่นไหวนี้จะนำไปใช้ปรับเลื่อนข้อมูลภาพที่จับมาจากตัวรับภาพ(CCD)ให้นิ่งอยู่ในเฟรมไม่ให้ไหวตามมือ แปลว่าจับภาพมาก่อนแล้วค่อยเอามาเลื่อนซึ่งแบบนี้เรียกว่าดิจิตอลอิมมิจสเตบิไลเซอร์ แต่ถ้าเป็นกล้องแพงๆ จะใช้ปรับที่เลนส์ชุดหนึ่งเพื่อให้ภาพนิ่งอยู่ในกรอบของตัวรับภาพตลอด อันนี้คือเลื่อนแล้วค่อยจับซึ่งเรียกว่าออพติคอลอิมมิจสเตบิไลเซอร์ อีกประเภทหนึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมภายนอก (ดูคำนิยามและหลักการ) เป็นกลไกยึดกล้องกับคนแบกกล้อง  กลไกพวกนี้เป็นแขนและข้อต่อ บางแบบใช้ความเฉื่อยของน้ำหนักถ่วงเช่นสเตดี้แคม(STEADICAM) บางแบบก็ใช้แรงขืน(Precession)ของไยโร(เป็นก้อนน้ำหนักสมดุลหมุนเร็วๆ)มาแก้อาการแกว่ง ระบบเหล่านี้ดีมีประโยชน์มากช่วยกลบเกลื่อนความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ถ่าย แต่สิ่งที่ต้องแลกในกล้องราคาถูกคือภาพจะมีอาการหน่วงเวลาและดูไม่ต่อเนื่องถ้ามือไหวมากๆ ต่างจากกล้องแพงที่ไม่มีอาการหน่วงและดูต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามถ้าไหวมากเกินขีดจำกัด ระบบไหนๆ ก็แก้ไขให้ไม่ได้หรอกครับ ทางที่ดีฝึกประคองกล้องให้นิ่ง หรือถ้าให้ดีก็หาซื้อสามขามาใช้ อันหนึ่งราคาพันสองพันก็พอใช้ได้แล้วละครับสำหรับเราๆ ชาวโฮมวีดีโอ
ไวท์บาลานซ์คืออะไร บางคนอ่านคู่มือของกล้องแล้วเจอการปรับตั้งอันนี้แล้วก็ไม่เข้าใจ เห็นไหมล่ะที่ผมบอกว่าหนังออกมาดีไม่ดีโดยหลักๆ แล้วก็ต้องฝีมือคนถ่าย ไวท์บาลานซ์ คือการแก้อาการเพี้ยนของสีขาว เพราะสีขาวเช่นสีกระดาษเมื่อถ่ายภายใต้แสงต่างๆ จะเพี้ยนไปตามแหล่งกำเนิดแสง เช่น เป็นสีฟ้า หรือสีเหลือง เป็นต้น แหล่งกำเนิดแสงต่างๆ เช่นหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดยาวๆ ที่เราเรียกว่าหลอดนีออน หลอดฮาโลเจน กับหลอดดวงกลมๆ มีไส้ นั้นให้แสงที่มีคุณสมบัติต่างกันไปและต่างจากแสงอาทิตย์ หรือแม้แสงอาทิตย์เองเมื่อท้องฟ้าแจ่มใสกับมีเมฆทึบก็ให้สีที่ต่างกันเมื่อถ่ายโดยกล้อง ดังนั้นสีของวัตถุที่ถูกถ่ายภายใต้แสงเหล่านี้จึงเกิดความเพี้ยนไปจากค่าอ้างอิง แต่สามารถปรับชดเชยได้โดยกล้องทั้งนี้คุณจะต้องเลือกให้ถูกว่าอยู่ภายใต้แสงแบบไหน ถ้าคุณเลือกถูกคุณจะเห็นกระดาษสีขาวเป็นสีขาวหรือเกือบขาว ไม่ใช่สีฟ้า หรือสีเหลือง และสีของภาพโดยรวมก็จะออกมาใกล้เคียงความจริง อย่างไรก็ตามโหมดอัตโนมัติของกล้องก็สามารถปรับไวท์บาลานซ์ได้ดีกว่านักถ่ายหนังมือใหม่หลายๆ คน แปลว่าถ้าไม่รู้ก็ปล่อยให้กล้องมันปรับเองไปเถอะ
แมนนวลเอกซ์โพเชอร์คืออะไร อันนี้เป็นการควบคุมขนาดรูรับแสงครับ สำหรับคนที่ถ่ายภาพนิ่งมาก่อนจะเข้าใจผลของการปรับรูรับแสงว่ามีผลต่อความมืดสว่างของภาพอย่างไร ลองสังเกตนะครับเวลาถ่ายคนโดยมีฉากหลังสว่างๆ เช่นทะเล จะได้ภาพคนออกมาหน้าดำ หรือแสงจากภายนอกที่สะท้อนจากรถยนต์แวบเข้ามาก็จะทำให้กล้องพยายามปรับแก้ตามทำให้เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง  หรือถ้าถ่ายภาพคนนั่งริมหน้าต่างในเวลาแดดแรงๆ แล้ววางกรอบภาพคร่อมหน้าต่างครึ่งหนึ่งกับภายในอีกครึ่งหนึ่ง หน้าคนจะมืดและหน้าต่างจะสว่าง อันนี้เพราะกล้องพยายามปรับรูรับแสงให้เกิดความสมดุล แต่เนื่องจากกล้องไม่รู้ว่าเราจะถ่ายภาพคนหรือจะถ่ายออกไปนอกหน้าต่างก็เลยปรับรูรับแสงออกมาครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ดีสักอย่าง จะเปลี่ยนไปถ้าคุณเล็งกล้องออกไปนอกหน้าต่างเลยคุณจะได้ภาพภายนอกชัดเจนแต่ส่วนที่อยู่ภายในบ้านมืดตื๋อ ปัญหาเหล่านี้เราสามารถปรับรูรับแสงแก้ได้ครับ เช่นถ้าคุณจะถ่ายหน้าคนริมหน้าต่าง ก็เปลี่ยนโหมดเป็นแมนนวลเอกซ์โพเชอร์แล้วปรับรูรับแสงมาทางบวกรูรับแสงจะเปิดกว้างทำให้ภาพใบหน้าคนสว่างขึ้นจนชัดเจนแต่ในทางกลับกันแสงจากภายนอกจะจ้าขึ้นจนมองไม่เห็นรายละเอียดนอกหน้าต่าง แต่ถ้าคุณปรับไปทางลบมากขึ้นรูรับแสงจะเล็กลงทำให้ใบหน้าของคนมืดแต่คุณจะเห็นรายละเอียดภายนอกหน้าต่างได้ดีขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือในขณะที่กล้องอยู่ในโหมดอัตโนมัติให้เล็งกล้องไปยังวัตถุที่จะถ่ายแล้วซูมเข้าจนวัตถุที่จะถ่ายเต็มกรอบภาพขณะที่เล็งอยู่ที่วัตถุนั้นก็ให้เปลี่ยนจากโหมดอัตโนมัติเป็นแมนนวล ทำอย่างนี้จะเป็นผลให้ค่าเอกซ์โพเชอร์และอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ถูกล๊อคให้เหมาะกับวัตถุเป้าหมาย จากนั้นค่อยเปลี่ยนขนาดภาพเป็นปกติตามที่คุณต้องการถ่าย เลือกดูเองนะครับว่าแบบไหนตรงกับที่คุณต้องการ (ตัวอย่างหนัง  1.04MB)
แมนนวลโฟกัสคืออะไร กล้องสมัยนี้เก่งจริงๆ ทั้งนี้เพราะมันจะปรับโฟกัสควบคู่กับรูรับแสงให้เราเอง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุที่เราถ่ายรวมทั้งฉากหลังก็จะดูชัดไปหมด แต่บางทีเราต้องการให้ดูเป็นศิลป์ หรือต้องการซ่อนฉากหลังที่ไม่น่าดู ก็สามารถปรับโฟกัสได้เองให้วัตถุที่เราถ่ายออกมาชัดโดยมีฉากหลังดูมัวๆ เช่นคุณต้องการถ่ายหยดน้ำฝนแล้วให้ซ่อนฉากหลังที่เป็นรั้วตาข่ายกับสังกะสีผุๆ ก็ให้เลือกโหมดแมนนวลโฟกัส แล้วปรับโฟกัสเข้ามาใกล้ๆ จนหยดน้ำชัดแจ๋ว หรือถ้าจับภาพหยดน้ำไม่ได้ก็เล็งไปที่วัตถุอื่นที่ระยะเดียวกันเช่นขอบชายคาที่น้ำหยดลงมาแทน ปรับโฟกัสให้ชัดแล้วจึงเลื่อนมาวางกรอบภาพตรงบริเวณที่น้ำหยดผ่าน ภาพที่ถ่ายออกมาจะได้หยดน้ำชัดแต่ฉากหลังเบลอๆ แต่ฉากหลังต้องอยู่ห่างพอควรนะครับไม่อย่างนั้นจะไม่เห็นผลเท่าใดนัก ถ้าฉากหลังอยู่ไม่ห่างนัก คุณต้องเคลื่อนเข้าไปใกล้หยดน้ำมากขึ้นกว่าเดิมอีก การปรับแมนนวลโฟกัสต้องปรับแมนนวลเอกซ์โพเชอร์ควบคู่กันไปด้วยจึงจะให้ผลดีที่สุดครับ กล้องส่วนใหญ่จะใช้เซอร์โวซึ่งเป็นเป็นกลไกที่ขับด้วยสัญญาณไฟฟ้าโดยรับสัญญาณมาจากการหมุนปุ่มปรับโฟกัสของเราอีกทีหนึ่ง ข้อดีคือผู้ผลิตกล้องมีต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องทำกลไกปรับโฟกัสแบบแมนนวลแต่เอาหน้าที่นี้ไปฝากกับปุ่มอเนกประสงค์อันหนึ่งแทน ข้อเสียทั้งหมดตกอยู่กับผู้ใช้ อย่างแรกคือปรับได้ช้าไม่ทันใจและไม่ตอบสนองกับมือ อีกอย่างคือกล้องบางตัวออกแบบมาไม่ดีทำให้เสียงนิ้วปั่นปุ่มปรับโฟกัสถูกบันทึกลงไปในเทปดังแกรกๆ เห็นใหมล่ะว่าระบบแมนนวลเก่าๆ นี่น่ะของดีๆ ยังมีอีกมาก พวกมือโปรนี่เขาปิดระบบอัตโนมัติทิ้ง แล้วปรับแมนนวลเอาเองเลย ประเภทดีชั่วอยู่ที่ตัวเราเองล้วนๆ (ตัวอย่างหนัง 1.01MB)
ปรับเสียง คุณภาพเสียงที่ได้จากกล้องนั้นขึ้นอยู่กับรายละเอียดของเสียงที่ถูกบันทึกไว้ในเทป รายละเอียดจะมากหรือน้อยขึ้นกับวิธีที่กล้องจับและแปลงเสียง แปลว่าส่วนหนึ่งขึ้นกับไมโครโฟนที่ใช้ อีกส่วนขึ้นกับวงจรแปลงสัญญาณเสียงจากแอนาลอกเป็นดิจิตอลในทางเทคนิคเรียกการดิจิไทซ์ ถ้าต้องการรายละเอียดสูงก็ต้องแปลงออกมาที่จำนวนบิทสูงเช่น 16บิทย่อมให้รายละเอียดได้ดีกว่า 12บิทเป็นต้น กล้องมินิดีวีจะให้เราเลือกการบันทึกเสียงได้ 2 แบบ คือ 12บิท และ 16บิท ถ้าเลือก แบบ 16บิทก็จะได้เสียงที่ชัดเจนและมีรายละเอียดดีที่สุด ในการนี้กล้องจะบันทึกเสียงแบบ 2 แทรค ถ้าเราเลือกบันทึกแบบ 12บิท ก็จะได้เสียงที่มีรายละเอียดด้อยลง (บางท่านว่าเสียงมันแบน ก็ว่ากันไป) แต่กล้องจะบันทึกเป็น 4แทรค โดยเก็บเสียงที่ได้จากตอนถ่ายลงใน 2แทรค ส่วนที่เหลืออีก 2แทรคเราสามารถบันทึกเพิ่มเติมในภายหลังได้หากมีอุปกรณ์ เช่นแทรคหนึ่งบันทึกเสียงพากย์ อีกแทรคบันทึกเสียงเพลง ดังนั้นหากคุณไม่มีอะไรจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการพากย์ก็ให้ปรับระบบเสียงเป็น 16บิทไปเลยเพื่อจะได้เสียงที่มีรายละเอียดดีๆ
Program AE หรือ Automatic Exposure ซึ่งเป็นค่าของรูรับแสงสัมพันธ์กับความเร็วชัทเตอร์ที่โรงงานตั้งโปรแกรมมาให้เราเลือกได้เอง ซึ่งเขาจะตั้งมาเป็นชื่อต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่จะถ่าย เช่น SPORTS-ถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วๆ เช่นคนวิ่ง หรือการแข่งรถ  SPOTLIGHT-ถ่ายวัตถุที่โดนแสงจังๆ เช่นบ่าวสาวในงานแต่งหรือนางแบบที่ถูกไฟแรงๆส่อง เพื่อไม่ให้สว่างเกินไป  PORTRAIT-ถ่ายคนหรือดอกไม้ให้เด่นออกมาจากฉากหลัง ทำให้ฉากหลังเบลอหน่อยๆ  BEACH-ถ่ายคนริมหาดหรือที่ฉากหลังสว่างๆ แล้วไม่ให้หน้ามืด  SUNSET-ถ่ายในที่แสงน้อย เช่นพลบค่ำหรือกลางคืน  LANDSCAPE-ถ่ายภาพมุมกว้างโดยเน้นวัตถุที่อยู่ไกลออกไปเช่นภูเขาแทนที่จะเป็นวัตถุที่อยู่ใกล้กว่าเช่นพื้นหญ้าหรือต้นไม้ใกล้ๆ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์นะครับ ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
แบลงค์เซิช หรือเอนด์เซิช ระบบค้นหาจุดสุดท้ายบนเทปที่ทำการบันทึก หลังจากกรอเทปกลับไปดูสิ่งที่ถ่ายไว้แล้วต้องการถ่ายต่อจากจุดสุดท้ายที่หยุด กล้องสามารถหาตำแหน่งนี้ให้เราได้โดยการเลือกโหมดเพลย์แบ็คแล้วกดปุ่มเอนด์เซิช หรือแบลงค์เซิช เพื่อหารอยต่อระหว่างส่วนที่มีภาพกับส่วนที่ไม่มีภาพให้เราโดยอัตโนมัติ ดังนั้นมันจึงใช้ได้กับเทปใหม่เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเทปที่เคยบันทึกมาแล้ว

0 comments:

Post a Comment