Tuesday, October 21, 2014

การเลือกกล้องคู่ใจ

ที่มา : http://studiodas.tripod.com/choosing.htm
สำรวจตัวเอง ก่อนซื้อกล้องต้องถามตัวเองให้ชัดว่าต้องการกล้องมาทำอะไรและมีกระเป๋าล้วงได้ลึกมากน้อยแค่ไหน หลักๆแล้วมีคุณสมบัติบางประการเท่านั้นที่ควรต้องมองไว้เพราะได้ใช้แน่นอน อีกหลายๆ อย่างก็หาโอกาสใช้ยากและไม่คุ้มกับราคาค่างวดที่ต้องแลกมา อาจจะแปลกถ้าบอกว่าผมรู้สึกอายถ้าจ่ายเงินซื้อของที่ไม่ได้ใช้ (แต่ก็ซื้อมาเยอะแล้ว) ถ้าคุณมั่นใจว่าต้องการฟีเจอร์ที่อยู่ในกล้องแพงระยับนั้นมาใช้งานและได้ใช้บ่อยๆ หรือสภาพแวดล้อมมันบังคับให้ใช้แบบนั้นก็ซื้อเถอะ หรือถ้ามีกะตังค์ซื้อแล้วรู้สึกดีก็ซื้อได้เลยเพราะมันเป็นเงินของคุณ กล้องเล็กมากๆ ก็แพงมากและการควบคุมก็ยากเช่นกัน กล้องที่มีขนาดพอดีมือและมีน้ำหนักพอควรจะควบคุมให้นิ่งได้ง่ายกว่ากล้องที่เล็กและเบาหวิว  กล้องทรงแนวนอนก็ถือได้มั่นคงและนิ่งกว่าทรงแนวตั้ง กล้องที่มีขนาดใหญ่กว่าหน่อยก็มีระยะเผื่อให้กลไกได้เคลื่อนตัวเมื่อมีการกระทบกระแทก การเลือกของนี่นะครับ ของที่สวยเฉียบและแพงที่สุดใช่ว่าจะดีที่สุด เพราะความพอดีของแต่ละบุคคลนั้นต่างกัน กล้องระดับราคาหนึ่งที่มีคุณสมบัติที่จำเป็นต้องใช้ครบถ้วนก็คือการเลือกที่ดีที่สุดของผู้ซื้อท่านนั้น สำหรับผมสิ่งที่ซื้อมาแล้วได้ใช้บ่อยทนทานอยู่กับเรานานๆ นั่นแหละดี
สำรวจผู้ขาย หาข้อมูลจากผู้รู้หลายๆ คนว่าซื้อกล้องที่ไหนดี ไม่ผิดราคา บริการดีมีประกัน อะไหล่หาง่ายและไม่แพง ยังไม่เคยได้ยินเลยนะว่าคอร์สอบรมการใช้กล้องที่แถมมากับกล้องจะได้ผลดี ดังนั้นอย่าไปสนกับของแถมทำนองนี้ถ้าจะต้องแลกกับราคาที่สูงขึ้น ในทางกลับกันแบตเตอรี่ก้อนที่สอง กระเป๋ากล้อง ม้วนเทป และสายเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เหล่านี้คือของจริงที่ต้องใช้และช่วยประหยัดเงินให้คุณได้เลยเมื่อซื้อ กล้องวีดีโอไม่ใช่ของที่พังง่ายๆ หรอกครับถ้าคุณใช้มันถูกเรื่องถูกทางแต่ก็ใช่ว่าจะเสียไม่เป็น ดังนั้นอย่าเสี่ยงเรื่องกล้องไม่มีประกัน ถ้ากะจะหิ้วเองก็ต้องยอมรับเวลาหิ้วกลับไปซ่อมด้วย  ถ้าคุณมีภารกิจพิเศษเช่นถ่ายใต้น้ำก็ต้องดูอุปกรณ์เสริมกล่องกันน้ำ ไฟแสงสว่าง เลนส์และฟิลเตอร์ให้ดี ว่ามีขายที่ไหน กล่องกันน้ำนี่บางอันแพงกว่าตัวกล้องเสียอีก ของบางอย่างเช่นม้วนเทปนี่ผมเองไม่เคยซื้อห้างเลย เพราะแพงกว่าซื้อตามแหล่งเช่นคลองถมหรือร้านบางแห่งตั้งสามเท่า
อย่าใจร้อน ถ้ามีเงินแล้วกล้องก็เป็นของตายไม่หนีไปไหน แต่ถ้าปล่อยให้ความอยากได้เข้าครอบงำเอามากๆ อาจช้ำใจได้ กล้องนี่เหมือนเพื่อนคู่หูเลยนะครับถ้าคุณชอบถ่ายหนัง ถ้าคู่หูคุณทำงานไม่เข้าขาคุณจะเซ็งทุกครั้งที่ใช้มัน ก่อนซื้อลองไปดูตามห้างร้านให้หนำใจ เช่นลองปรับสายรัดมือให้ตึงพอดีๆ แล้วถือดูว่ากล้องเข้ามือหรือไม่ เข้ามือในที่นี้หมายถึงคุณถือแล้วนิ้วโป้งต้องกดปุ่ม Start/Stop ได้โดยไม่ต้องขืน ง้าง หรือยืดนิ้วไปหาปุ่ม ปุ่มจะต้องกดได้โดยไม่ต้องใช้นิ้วจิกลงไป ถ้าไม่ถนัดแล้วภาพจะไหวทุกครั้งก่อนที่คุณจะหยุดเดินเทป นิ้วชี้ต้องโยกหรือดันปุ่มควบคุมการซูมได้โดยกล้องไม่โยก อันนี้สำคัญนะครับ ถ้ากล้องโยกตอนซูมนี่จะทำให้ภาพไหวทุกครั้งที่คุณซูมระหว่างที่เดินเทปถ่ายอยู่ สำหรับกล้องแนวตั้งนี่โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้ามือผม(ยกเว้น SONY DCR-PC300E)เวลาจับถือแล้วต้องกระดกข้อมือไปข้างหน้าน้อยๆ นิ้วกลางมีโอกาสจะไปบังส่วนหน้าของกล้องได้บ่อยๆ รวมถึงไปโดนเลนส์ด้วย และต้องเหยียดนิ้วโป้งไปหาปุ่ม start/Stop นิ้วชี้ก็ต้องเหยียดไปหาปุ่ม(ใช้ไถปุ่มไม่ใช่โยก)ซูมซึ่งผมคิดว่าควบคุมยากกว่าแบบเป็นคันโยก จึงไม่ถนัดเอาเสียเลย อันนี้อาจเป็นเฉพาะผมก็ได้นะ แต่ที่แน่ๆ อีกอย่างคือแนวของเลนส์รับแสงอยู่สูงกว่าปกติทำให้การสั่นไหวของมือส่งผลมากกว่ากล้องทรงแนวนอน
อย่าสนใจดิจิตอลซูม การซูมคือความสามารถในการเปลี่ยนขนาดภาพซึ่งกล้องจะทำได้สองอย่าง อย่างแรกคือออพติคอลซูมเป็นการเปลี่ยนขนาดภาพโดยใช้การปรับระยะของชุดเลนส์ให้ได้ถาพมุมกว้างหรือแคบโดยส่วนใหญ่แล้วจะได้ราวๆ 10ถึง 20X ออพติคอลซูมนี้จะให้ภาพที่ได้คุณภาพเพราะขนาดภาพเปลี่ยนแปลงก่อนจะถูกจับโดยตัวรับสัญญาณของกล้อง อีกอย่างคือดิจิตอลซูม เป็นกรรมวิธีทางด้านข้อมูลกับภาพซึ่งตัวรับสัญญาณภาพจับเข้ามาแล้ว เมื่อต้องการกำลังขยายมากขึ้นก็ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์แทรกเม็ดสีเข้าไปในถาพเล็กๆ ให้ดูใหญ่โตขึ้น ดังนั้นภาพจริงจึงถูกดัดแปลงให้เพี้ยนไปตามกำลังขยาย ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าภาพจะออกเป็นเม็ดสีเหลี่ยมๆ ดังนั้นอย่าให้ตัวเลขเช่น 990มาดึงความสนใจของคุณเพราะมันไม่มีประโยชน์สำหรับโฮมวีดีโอหรอกครับ รู้แต่ว่าตั้งแต่ซื้อกล้องมายังไม่เคยใช้ไอ้เจ้าดิจิตอลซูมนี้เลย เพราะลองแล้วก็ไม่เห็นความจำเป็นกับขนาดภาพแบบนี้ และภาพออกมาก็หยาบมาก ในทางกลับกันผมให้คะแนนกับออพติคอลซูมล้วนๆ และก็จะตั้งกล้องให้ควบคุมได้เฉพาะระยะของออพติคอลซูม ลองดูนะครับกล้องส่วนใหญ่จะให้คุณเลือกได้ว่าจะใช้ดิจิตอลซูมหรือไม่ใช้ ถ้าเลือกไม่ใช้ เวลาคุณโยกกระเดื่องซูม มันจะอยู่ในช่วงของออพติคอลซูมโดยไม่ล้ำเข้าไปในเขตดิจิตอลซูม
ถ้าเงินไม่ถึงอย่าเอาแบบถ่ายภาพนิ่งได้ ภาพวีดีโอชัดๆต้องการความละเอียดของตัวรับสัญญาณภาพเพียงกว่าสี่แสนพิกเซลเท่านั้นเอง(อย่างต่ำ 800,000 พิกเซลสำหรับกล้องที่มีดิจิตอลอิมมิจสเตบิไลเซอร์) แต่ภาพนิ่งจะออกมาดูได้อย่างน้อยต้องมีสองล้านพิกเซลขึ้น ถ้าถึงสามล้านนี่ก็ใช้ได้เลย แต่ราคาก็จะเริ่มห่างจากที่ชาวโฮมยูสต์ทั่วๆ ไปจะไขว่คว้ามาครอบครองเช่นกัน ดังนั้นถ้างบจำกัดแทนที่จะจ่ายเงินซื้อฟีเจอร์นี้แล้วใช้ได้ไม่ดีก็ให้ไปเลือกฟีเจอร์อื่นแทน หรือถ้าตัดออกไปได้ก็ประหยัดเงินได้ร่วมสาม-สี่พันนะครับ แต่เชื่อว่าต่อไปข้างหน้าราคากล้องที่ถ่ายภาพนิ่งได้ดีคงถูกลงเรื่อยๆ จนพอหาซื้อมาใช้กันได้เองเหละครับ
สเตดี้ช็อทหรืออิมมิจสเตบิไลเซอร์ต้องมี  ฟีเจอร์นี้เป็นตัวช่วยเรื่องกล้องไหวหรือมือสั่นทำให้ภาพไม่ไหวตามแล้วดูดีขึ้น ดูรายละเอียดในเทคนิคการปรับกล้อง
ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดี  ให้เลือกกล้องที่ถ่ายได้ในสภาพแสงน้อย กล้องหลายต่อหลายตัวเวลาถ่ายในที่ที่ไม่ค่อยสว่างเช่นในบ้านแล้วจะได้ภาพที่เป็นเม็ดดำยิบๆ ไปทั้งภาพ อันนี้ในทางเทคนิคเรียก grain หรือ noise อันเนื่องมาจากตัวรับภาพได้รับแสงไม่ถึงจุดอิ่มตัว นอกจากนี้ยังทำให้กล้องปรับโฟกัสได้ช้าหรือไม่ได้โฟกัสเลย วิธีทดสอบให้มองหามุมมืดในร้าน เช่นใต้โต๊ะ แล้วเล็งกล้องเข้าไป ถ้ามองเห็นภาพได้ชัดเหมือนตาเห็นและโฟกัสได้ชัดเจนก็น่าจะโอเค แต่ถ้าไม่ดีก็จะเห็นเลย เรื่องนี้นี่สำคัญนะครับ เวลาคุณถ่ายงานวันเกิดแล้วถึงเวลาปิดไฟเป่าเทียนถ้ากล้องไม่ถึงนี่ภาพขึ้นเม็ดแล้วโฟกัสยากถ่ายออกมาไม่สวยเลย ความสามารถในการถ่ายในที่แสงน้อยนี่เป็นความสามารถพื้นฐานนะครับ หมายถึงสามารถถ่ายได้โดยไม่ต้องใช้ไฟช่วย กล้องบางแบบ บางยี่ห้อ จะมีไฟที่ช่วยให้ถ่ายในที่มืดสนิทได้ แต่จะได้ภาพขาวดำ หรือเขียวดำ ไม่ใช่ภาพสี ซึ่งตัวช่วยแบบนี้มีโอกาสใช้น้อย ถ้าไม่ใช่งานเฉพาะทางจริงๆ อีกจุดหนึ่งคือตัวเลนส์เอง ให้คุณดูค่า aperture value ซึ่งจะพิมพ์อยู่ที่กรอบเลนส์เช่น F1:1.8 หรือ F1:1.6 เป็นต้น ค่า aperture value ยิ่งน้อยหมายถึงแสงจะผ่านเข้ามาได้มากกว่า(ค่า 1.จะให้แสงผ่านเข้ามาได้มากกว่าค่า 1.8)หรือรับแสงได้ดีกว่า นั่นหมายถึงได้เปรียบมากกว่าเมื่อถ่ายในสภาพแสงน้อย แต่ค่านี้ไม่ใช่ปัจจัยตัดสินเสียทีเดียวเพราะยังขึ้นกับแบบและความสามารถของตัวรับภาพ (CCDด้วย กล้องที่มีCCD แค่อันเดียวจะใช้ฟิลเตอร์แยกแม่สีให้ CCD จับภาพทีละสีคล้ายๆ กับเราสลับเอาแว่นสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน มาใส่ทีละอันเพื่อมองภาพๆ หนึ่ง แต่กล้องที่มี 3 CCD จะใช้แก้วปริซึมแยกภาพออกเป็นสามสีพร้อมๆ กันให้ไปตกลงบนตัวรับภาพของแต่ละสี  ดังนั้นเมื่อเปรียบกล้องทั้งสองแบบแล้วภายในเวลาเท่าๆ กันแสงจากภาพจะตกลงบนตัวรับภาพของกล้อง 3 CCD ได้นานกว่า ตัวรับภาพจึงถึงจุดอิ่มตัวได้เร็วและให้ค่าของสีแต่ละสีได้สมบูรณ์กว่า เมื่อทราบองค์ประกอบเหล่านี้แล้วคุณจะเข้าใจว่าวิธีที่ดีที่สุดคือทดลองถ่ายให้เห็นกันจะจะไปเลย
พอร์ทเชื่อมต่อพีซี   เลือกแบบ i-link (Sony) หรือ IEEE-1394 หรือ FireWire จะเข้ากับโปรแกรมตัดต่อบนพีซีได้ดีที่สุด อันนี้เอาไว้ใช้เวลาที่คุณต้องการทำวีซีดี หรือดีวีดีจากม้วนเทปที่ถ่ายมา พอร์ทแบบที่ว่านี้ให้ความเร็วในการถ่ายข้อมูลที่สูงกว่าแบบ USB1.0 ดังนั้นถ้าพีซีคุณเร็วพอจะไม่มีอาการเฟรมตก(drop frame) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะเป็นผลให้ภาพกระตุกเพราะภาพบางเฟรมขาดหายไประหว่างการถ่ายข้อมูลจากกล้อง พอร์ทที่ว่านี้ยังเป็นมาตรฐานกลางที่คุณจะหาซอฟท์แวร์สำหรับจับภาพจากกล้องมาใช้งานได้อย่างสะดวก
มือจับ  ขอย้ำว่าต้องจับได้ถนัดมือ ถึงคุณจะชอบกล้องรุ่นไหนเป็นพิเศษแต่ถ้าจับไม่ถนัดแล้วให้คิดเสียว่าไม่ได้ทำบุญร่วมกันมาอย่าไปฝืนซื้อ กล้องนี่นะถ้าเข้ามือคุณพอจับแล้วจะรู้สึกเลย พอปรับสายรัดอีกนิดนี่ยังกับเขาหล่อแบบมาให้เข้ากับมือเรา ควรมีสายรัดมือกันตก ผมเห็นกล้องแนวตั้งบางรุ่นออกแบบมาไม่มีสายรัดมือ ดูแล้วหวาดเสียวกลัวร่วงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือถ้าไม่มีสายรัดมือแล้วคุณต้องใช้วิธีหนีบกล้องไว้ในมือ โดยใช้นิ้วก้อย นาง กลาง กับอุ้งมือบริเวณโคนนิ้วโป้งเท่านั้น วิธีที่จะถือได้มั่นคงคือประคองด้วยมือซ้าย อย่างไรก็ตามเมื่อถ่ายนานๆ ก็ทำให้มือขวาที่หนีบกล้องเริ่มเมื่อย ต่างกันกับกล้องแนวนอนที่มีสายรัด สายรัดจะทำหน้าที่โหนกล้องไว้กับหลังมือ และด้านล่างของกล้องจะยันอยู่กับฝ่ามือ ยากที่จะตกและถือได้นานกว่าจะเมื่อย ในขณะเดียวกันนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ก็เป็นอิสระสำหรับการควบคุมปุ่ม Start/Stop และซูม
เรื่องของซูมอีกนิด ต้องบอกว่ากล้องส่วนใหญ่ไม่มีปัญหานี้ แต่ระวังไว้ก็ไม่เสียหลาย เวลาเลือกซื้อกล้องให้ลองซูมดู ระหว่างซูมให้เอาส่วนกระบอกเลนส์แนบหูอย่าสนใจคนขายที่ทำหน้าแปลกนึกว่าเราจะซื้อMP3 ถ้าเสียงกลไกทำงานราบลื่นและไม่ดังมากก็ใช้ได้ ถ้าระหว่างซูมฟังแล้วไม่เรียบตะกุกตะกักอาจแปลว่าออกแบบมาไม่ดี หรือประกอบมาไม่ดี เสียงนี้ถ้าดังพอจะถูกบันทึกลงมาอยู่ในเทปได้เมื่อซูมภาพระหว่างถ่าย ลองฟังเปรียบเทียบดูหลายๆ รุ่น หลายๆ ยี่ห้อ แล้วคุณจะจับได้ว่าเสียงของอันไหนดังอันไหนค่อย
เรื่องของเสียงรบกวน กล้องนั้นมีกลไกเดินเทปไปข้างหน้าแบบปกติและแบบเดินเร็วไปข้างหน้าและหลังซึ่งประกอบด้วยชุดเฟืองที่ขับโดยมอเตอร์ไฟฟ้า ถ้าออกแบบมาไม่ดีจะมีเสียงฮัมของระบบขับเคลื่อนถูกบันทึกลงไปในเทปด้วย คุณจะแยกไม่ออกหรอกถ้าเป็นการถ่ายในที่ที่มีเสียงอื้ออึงอยู่รอบๆ แต่วันไหนออกไปถ่ายธรรมชาติที่เงียบสงบและกล้องคุณมีปัญหานี้ละก็คุณจะได้ยินเสียงฮัมนี้ชัดเลย ดังนั้นตอนเลือกกล้องใช้หูให้เปนประโยชน์อีกที คุณอาจไม่รู้หรอกว่าดังแค่ไหนถึงจะมีเสียงรบกวนลงไปในเทป แต่ฟังดูหลายๆ รุ่น หลายๆ ยี่ห้อแล้วมันจะเกิดการเรียนรู้ขึ้นเองแหละครับว่าอันไหนทำมาดีหรือไม่ดี
อุปกรณ์เสริม  อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าแบตเตอรี่ก้อนที่สองนั้นต้องมี ถ้าเขาแถมมาให้คุณก็ประหยัดเห็นๆ เพราะก้อนหนึ่งก็หลายพัน  ขาตั้งกล้องก็มีประโยชน์เมื่อคุณเริ่มซีเรียสกับภาพที่ออกมาแล้วไหว ถ้าคุณอยากทำสารคดีส่วนตัวคุณอาจชอบไมโครโฟนแบบมีปุ่มควบคุม(ใช้สายต่อกับกล้อง)ที่ทำให้คุณไปยืนหน้ากล้องเป็นดาราได้เอง ชาวโฮมวีดีโอมีหลากหลาย ถ้าคุณไม่ใช่นักดำน้ำก็ย่อมไม่เห็นความจำเป็นว่าอุปกรณ์เสริมแปลกๆ มีไว้ทำอะไร แต่ถ้าดันใช่ก็ควรมองหากล้องที่ตามลงไปกับคุณเพื่อเก็บภาพสวยงามจากโลกใต้ผืนน้ำมาฝากคนที่บ้านได้ด้วย หากไม่วางแผนล่วงหน้าก่อนซื้อแล้วได้กล้องที่หาอุปกรณ์เสริมไม่ได้ก็จะเสียโอกาสหรือต้องเสียเงินซื้อกล้องใหม่อีก เมื่อลงไปใต้น้ำทะเลใสๆ ถ้าลึกไม่เกินสัก 20 เมตรก็อาจไม่ต้องใช้ไฟส่อง แต่เนื่องจากสีแดง ส้ม เหลืองนี่จะถูกน้ำดูดกลืนไว้ เมื่อลึกลงไปก็จะเหลือแต่สีน้ำเงิน ตรงนี้ผู้รู้เขาว่าใช้ฟิลเตอร์แก้ไขเรื่องสีได้ อีกอย่างที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือกล่องกันน้ำ ผมเองแม้ไม่สันทัดเพราะกลัวฉลาม แต่ที่เห็นๆ  SONY มีของพวกนี้ขายเพราะเห็นจากโบรชัวร์

สรุป  ในสายตาของผม กล้องคอนซูมเมอร์รุ่นปัจจุบันนี้ไม่มีอันไหนที่ใหญ่เกินหรือหนักเกินไปแล้ว ที่เกินนี่ผมคิดว่าเป็นเรื่องฟีเจอร์ต่างๆ เสียมากกว่า ถ้าเป็นตัวผมเองจะไม่ซื้อให้เต็มงบประมาณแต่ที่ตั้งไว้เพื่อไม่ให้เกินเท่านั้นเอง(ฟังแล้วดูดีนะ จริงๆ คือไม่ค่อยมี) ผมจะเลือกกล้องที่มีแต่คุณสมบัติที่จำเป็นเท่านั้นอันไหนไม่จำเป็นคิดเสียว่าเป็นภาพลวงตาก็จะตัดออกเพื่อประหยัดเงิน ตัวกล้องต้องจับถนัดมือไม่เล็กเกินไป ปุ่มควบคุมต่างๆ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่นิ้วโป้งและนิ้วชี้ควบคุมได้โดยไม่ต้องขืน มีน้ำหนักที่สมดุลกับขนาด  กล้องบางยี่ห้อดูตัวใหญ่แต่เบาหวิวเมื่อถือแล้วจะไหวง่าย ถ้าความสามารถและราคาใกล้เคียงกันก็ดูที่ของแถมและบริการ ง่ายๆ แค่นี้เอง

0 comments:

Post a Comment